หากพูดถึงจังหวัดนครราชสีมา หรือเมืองโคราช และถามถึงของดีเมืองโคราชสิ่งหนึ่งที่คนมักจะคิดถึงคือผ้าไหมโคราช ดังที่ปรากฎในคำขวัญจังหวัดนครราชสีมาว่า “เมืองหญิงกล้า ผ้าไหมดี หมี่โคราช ปราสาทหิน ดินด่านเกวียน”
เรื่องราวขาวผ้าไหมโคราชนั้นเป็นที่กล่าวขานและมีเชื่อเสียงมาแต่โบราณกาล มีการพบบันทึกว่าชื่อเสียงของผ้าไหมโคราชมีมาตั้งแต่ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา ในสมัยนั้นชาวโคราชนิยมผลิตเส้นไหมเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน และแบ่งปันญาติพี่น้อง จากนั้นจึงมีการนำไปขายผ่านพ่อค้าคนกลางซึ่งสมัยนั้นเรียกว่า “นายฮ้อย” ที่จะเป็นผู้รวบรวมเส้นไหมบรรทุกใส่เกวียน ไปขายยังกรุงศรีอยุธยา
การผลิตผ้าไหมในโคราชนั้นกระจายอยู่ทั่วไปในหลายอำเภอ ส่วนใหญ่จะผลิตผ้าไหมประเภทหัตถกรรม ผลิตกันตามภูมิปัญญาดั้งเดิม เป็นกิจกรรมที่ช่วยหารายได้เสริมในยามอยู่นอกฤดูทำการเกษตร โดยอำเภอที่ขึ้นชื่อเรื่องการผลิตผ้าไหมโคราช ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคืออำเภอปักธงชัย ซึ่งนอกจากจะมีการผลิตตามภูมิปัญญาดั้งเดิมแล้ว ยังมีการผลิตแบบอุตสาหกรรม ผ่านกระบวนการผลิตที่ทันสมัย มีทั้งการทอด้วยกี่กระตุกและเครื่องจักร มีรูปแบบลวดลายหลากหลาย ตรงตามสมัยนิยมและความต้องการของผู้บริโภค และด้วยมาตรฐานการผลิตที่ดีทำให้ผ้าไหมโคราช ได้รับตรานกยูงพระราชทานสีน้ำเงิน
"ตรานกยูงพระราชทาน" คือ เครื่องหมายรับรองผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทยที่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานสัญลักษณ์นกยูงไทยให้เป็นเครื่องหมายรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทย
ผ้าไหมที่จะเข้าเกณฑ์ได้รับ ตรานกยูงพระราชทานสีน้ำเงิน ต้องเป็นผ้าไหมชนิดที่ผลิตด้วยภูมิปัญญาของไทยแบบประยุกต์ ใช้เทคโนโลยีการผลิตเข้ากับสมัยนิยมและเชิงธุรกิจ ดังนี้
– ใช้เส้นไหมแท้เป็นเส้นพุ่งและเส้นยืน
– ย้อมด้วยสีธรรมชาติ หรือสีเคมีที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม
– ทอด้วยกี่แบบใดก็ได้
– ต้องผลิตในประเทศไทยเท่านั้น
และจากประวัติอันยาวนาน จนกลายเป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจของชาวโคราช “โรงแรมเซ็นเตอร์พอยต์ เทอร์มินอล 21 โคราช” จึงได้นำเอาผ้าไหมและนกยูง มาเป็นแรงบันดาลใจในการตกแต่งภายในของโรงแรม เพื่อให้ทุกท่านที่มาเยือน ได้สัมผัสกับความเป็นโคราชตั้งแต่ก้าวแรกที่เดินทางมาเข้าพักยังโรงแรมของเรา